The Creator สงครามคนปะทะ AI บรรยากาศดิสโทเปียนไทบ้าน

หนังเล่าเรื่องในอนาคตในปี 2070 สหรัฐอเมริกาประสบเหตุระเบิดนิวเคลียร์โจมตีลอสแองเจลิส คาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของ AI รัฐบาลจึงเร่งเปิดฉากสงครามทำลายล้าง AI ให้สิ้นซาก โจชัว อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษผู้สูญเสียภรรยา มายา ถูกเลือกให้กลับมารับหน้าที่ตามล่า เนอร์มาตา (Nirmata) ผู้สรรสร้างที่คาดว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง AI ทั้งมวล ที่อาศัยอยู่ใน ‘นิวเอเชีย’ ดินแดนที่ยังคงมีคนและ AI ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุข แต่แล้วเขากลับพบว่า อาวุธทรงพลังที่กองทัพหมายหัว กลับเป็นเพียง AI เด็กน้อยที่มีชื่อว่า แอลฟี

ความโดดเด่นและสดใหม่ของการดูหนังไซไฟเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นภาพของการแบ่งโลกออกเป็น 2 ฟากฝั่งทางความคิดที่สะท้อนไปถึงวัฒนธรรม และความขัดแย้งทางแนวคิดเกี่ยวกับ AI และในทางการเมือง ฝั่งนิวเอเชียคือตัวแทนของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่โอบรับ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ภาพของโลกอนาคตแบบ Cyberpunk ท่ามกลางทุ่งนาป่าเขา ชนบท สถานที่และบรรยากาศแบบไทย ๆ จึงเป็นอะไรที่โคตรล้ำ แปลกตา และมีเอกลักษณ์มาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ดูกลมกลืนมาก ๆ ชนิดที่เด็กวิ่งเล่นกับหุ่นยนต์ได้แบบไม่ตกใจ จนผู้เขียนแอบรู้สึกว่าฉากต่าง ๆ นี่คือผลจากการ Prompt คำสั่งให้ Midjourney คอย Generate ออกมาแน่ ๆ

ในอีกด้านหนึ่งจากการดูหนังมันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า อเมริกากลายเป็นตัวแทนของมนุษย์เสรีนิยม (หรือตำรวจโลก) ที่ต้องการกำจัดศัตรูผู้รุกรานชาติ (ซึ่งจะพาลให้นึกไปถึง 9/11 ก็ไม่แปลก) หรือในแง่ของการเป็นตัวร้าย ในขณะที่นิวเอเชียนั้นเชื่อว่า AI ไม่ต่างจากคน มีความรู้สึก ความสัมพันธ์ สังคม ศาสนา ฯลฯ (มี AI บวชเป็นพระด้วย!) แต่อเมริกากลับมองเห็น AI เป็นเพียงเครื่องมือจักรกลที่วิวัฒน์ตัวเอง และพร้อมจะคุกคามมนุษยชาติได้ตลอดเวลา ซึ่งข้อขัดแย้งนี้มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วในโลกปัจจุบัน

แต่แม้ว่าจะวางท่าทีให้มีความเป็นไซไฟล้้าจัด ๆ แต่ตัวหนังเองก็ไม่ได้วางตัวให้เป็นหนังขบเค้นปรัชญาอะไรขนาดนั้น เพราะตัวหนังเองถูกวางพล็อตเอาไว้แบบง่าย ๆ เดินเรื่องค่อนข้างเร็ว ในบรรยากาศและพล็อตแนวหลังโลกล่มสลาย (Post-Apocalypse) หรือแนว Dystopia ในขณะที่ยานโนแมด (Nomad) อาวุธทรงอานุภาพของอเมริกาที่มีเรดาร์สำหรับใช้ค้นหา และยิงมิสไซส์ทำลายศัตรูในเรื่อง ก็ชวนให้นึกถึงดาวพิฆาต (Death Star) ใน ‘Star Wars’ ที่จักรวรรดิกาแล็กติกใช้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุได้เหมือนกัน

อีกอย่างคือ เห็นเป็นหนังไซไฟแบบนี้ แต่จริง ๆ ใช้ทุนแค่ 80 ล้านเหรียญเอง หนังไซไฟยุคนี้ ขั้นต่ำ ๆ ก็ต้อง 150-200 ล้านเหรียญขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเน้นถ่ายในโลเคชันจริงเป็นหลัก ผสานกับงานวิชวลที่เรียกได้ว่าค่อนข้างสมบูรณ์แบบทีเดียว มีแอบหลุด ๆ บ้างแต่ถือว่าน้อย
รวมทั้งการใช้กล้อง Sony FX3 กล้อง Cinema Line รุ่นเริ่มต้นขนาดเล็กที่ถ่ายทำได้คล่องตัว แต่บันทึกภาพได้ในระดับ IMAX ในอัตราส่วน 2.76 : 1 ซึ่งก็ต้องชมว่างานด้านภาพทำออกมาได้เกินคาด เพียงแต่ด้วยคุณภาพ ความลึกของภาพโดยรวมอาจจะไม่ได้ถึงกับว้าว ดูระบบ IMAX ฟังงานสกอร์ทรงพลังของ ฮานส์ ซิมเมอร์ (Hans Zimmer) ก็นับว่าคุ้มค่า แต่ถ้าดูหนังในระบบปกติก็ไม่ได้ถึงกับน่าเสียดายอะไร

ตัวบทหนังทำออกมาให้ดูหนังได้เพลิน ๆ มีการเล่าเรื่องแบ่งเป็นองก์ย่อย ๆ เอาไว้ บทพยายามสอดแทรกความเป็นหนังแอ็กชันไซไฟ ผจญภัย ดราม่า แทรกมุกฮาเล็ก ๆ ที่ดูได้ง่ายทั้งครอบครัว มีฉากเกือบเจ็บตับนิดหน่อย แต่พอมันยืม Reference จากหนังไซไฟรุ่นพี่มาค่อนข้างเยอะ ทำให้พล็อตจึงไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างหรือฉีกแหวกไปจากสิ่งที่คอหนังไซไฟคุ้นเคยกันอยู่แล้ว
อีกจุดคือ การดำเนินเรื่องในองก์หลัง ๆ ที่พยายามปูเรื่องเพื่อเร้าอารมณ์บางอย่าง แต่กลับถูกเล่าแบบแค่ให้พอเข้าใจ แต่ไม่ได้ชวนให้รู้สึกเชื่อในเหตุผลของตัวละครได้มากนัก กลายเป็นช่องโหว่ใหญ่ ๆ หลายจุด ทำให้หนังเรื่องนี้ยังไม่สามารถถ่ายทอดความมีหัวจิตหัวใจ เติมความเป็นปรัชญาลึกซึ้งของตัวหนังและตัวละครออกมาได้สมบูรณ์แบบนัก รวมทั้งพล็อตบางจุดที่ดูรวบรัดตัดความเกินไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังเป็นหนังไซไฟออริจินัลที่มีครบเครื่อง ทั้งฉากที่ตื่นตาตื่นใจเกินจินตนาการ และเนื้อเรื่องที่ดูได้แบบเพลิน ๆ ครบทุกอารมณ์ เป็นหนังไซไฟที่ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยจะดูจนจบ End-Credits แน่นอน


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *